การอนุรักษ์การได้ยิน (Hearing Conservation)
เรามาพูดถึงหนึ่งในหัวข้อของมาตรการในการอนุรักษ์การได้ยิน ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิผลและวัดค่าได้ และยังสามารถประเมินแนวทางในการลดเสียง หรือการให้ลำดับความสำคัญว่าควรจะปรับปรุงในส่วนไหนก่อนเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและประหยัดค่าใช้จ่าย
การเฝ้าระวังเสียงดัง และการสร้างแผนที่ระดับเสียง (Noise Contour)
การเฝ้าระวังเสียงดังและการสร้างแผนที่ระดับเสียง (Noise Contour) เป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินและจัดการปัญหามลพิษทางเสียงในสถานประกอบกิจการ หรือชุมชนในด้านสิ่งแวดล้อม เสียงดังที่เกินระดับมาตรฐานสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของบุคคลได้ ดังนั้นการเฝ้าระวังและการทำ Noise Contour จะช่วยให้เราสามารถระบุแหล่งที่มาของเสียงและดำเนินการป้องกันหรือแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเฝ้าระวังเสียงดัง
- การตรวจวัดระดับเสียงโดยใช้อุปกรณ์ตรวจวัดระดับเสียง เช่น เครื่องวัดระดับเสียง (Sound Level Meter) หรือเครื่องวัดเสียงที่ สามารถบันทึกข้อมูลได้ (Dosimeter) เพื่อตรวจสอบระดับเสียงในพื้นที่ต่างๆ
- คำนวณระดับเสียงเฉลี่ย (Leq) และค่าระดับเสียงสูงสุด (Lmax) เพื่อประเมินความเสี่ยงของเสียงดัง ในบางกรณีที่ลักษณะเสียงที่เป็นเสียงดังสูงแบบเฉียบพลันอาจจะต้องวัดค่า LCpeak หรือ Peak C level ซึ่งค่าเหล่านี้จะมีผลโดยตรงในส่วนของการสูญเสียการได้ยิน
- การวิเคราะห์ข้อมูลเสียง บันทึกและวิเคราะห์ข้อมูลระดับเสียงที่ตรวจวัดได้ โดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เช่น ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง มาตรฐานระดับเสียงที่ยอมให้ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทํางานในแต่ละวัน
- ระบุแหล่งที่มาของเสียงดังและเวลาที่เกิดเสียงดังมากที่สุด เพื่อวางแผนการควบคุมเสียงในช่วงเวลาที่เหมาะสม
การดำเนินการป้องกัน
ให้คำแนะนำในการลดเสียงดัง เช่น การใช้วัสดุดูดซับเสียง การติดตั้งฉนวนกันเสียง หรือการปรับเปลี่ยนการทำงานของเครื่องจักรในสถานที่ทำงาน หรือในกรณีที่ปัญหาเสียงดังมีความสลับซับซ้อนในการแก้ไขควรจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาวิเคราะห์เพิ่มเติมในส่วนของมาตรการ ส่งเสริมการใช้ที่ปิดหูหรือที่อุดหูในพื้นที่ที่มีเสียงดังเกินมาตรฐาน
การทำ Noise Contour
การเก็บข้อมูล
ใช้เครื่องวัดเสียงที่ได้มาตรฐาน IEC61672-1 และมีการสอบเทียบอย่างถูกวิธีตามมาตรฐานเครื่องมือ เพื่อเก็บข้อมูลระดับเสียงในพื้นที่ต่างๆ ในช่วงเวลาที่เกิดเสียงดัง จัดเก็บข้อมูลพิกัดตำแหน่งของจุดตรวจวัดเสียง เพื่อใช้ในการสร้างแผนที่ระดับเสียง
การสร้างแผนที่ระดับเสียง
ใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์ในการวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างแผนที่ระดับเสียง (Noise Contour Map) โดยใช้ Software ที่ถูกพัฒนามาเพื่อใช้งานด้านการจัดการเสียงในงานอาชีวอนามัยโดยเฉพาะเช่น SoundPLAN manda แผนที่ระดับเสียงจะแสดงพื้นที่ที่มีระดับเสียงต่างๆ โดยใช้สีที่แตกต่างกันเพื่อแสดงระดับเสียงที่แตกต่างกัน
การวิเคราะห์และการวางแผน
วิเคราะห์แผนที่ระดับเสียงเพื่อระบุพื้นที่ที่มีปัญหาเสียงดังเกินมาตรฐาน
วางแผนการดำเนินการเพื่อลดเสียงดังในพื้นที่ที่มีปัญหา เช่น การติดป้ายบังคับสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียง กั้นโซนพื้นที่เสียงดัง หรือทำการแก้ไขเสียงดังที่แหล่งกำเนิด หรือติดตั้งวัสดุลดทอนเสียง จัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงพื้นที่ที่เสียงดังตามลำดับความสำคัญเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
การเฝ้าระวังเสียงดังและการสร้างแผนที่ระดับเสียงเป็นขั้นตอนสำคัญในการจัดการมลพิษทางเสียงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และพนักงานที่ทำงานในสถานประกอบการ การดำเนินการเฝ้าระวังและการสร้าง Noise Contour อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้เราสามารถระบุและจัดการปัญหาเสียงดังได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นและมีสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบมากขึ้น